ตัดขนสุนัข 1

สำหรับสุนัขสายพันธุ์ขนสั้น เรื่องของการดูแลรักษาความสะอาดเส้นขนอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่สำหรับสุนัขสายพันธุ์ขนยาวแล้ว การดูแลเส้นขนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น การแปรง การสระ และการ ตัดขนสุนัข ให้ยาวพอดีและสวยงามอยู่เสมอ

สายพันธุ์ที่ควรดูแลเป็นพิเศษ

สายพันธุ์สุนัขหรือแมวที่ต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ คือ สายพันธุ์ที่มีลักษณะเส้นขนยาว โดยเฉพาะแบบ

– Natural Long-Haired คือ ลักษณะขนชั้นเดียว ยาวขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง สุนัขสายพันธุ์ Afghan Hound, Shih Tzu, Lhasa Apso , Maltese, Yorkshire Terrier และ แมวสายพันธุ์ Maine Coon, Persian, British Longhair, Ragdoll

– Curly and Wavy-Coated คือ ลักษณะขนชั้นเดียว นุ่ม หยิก และเป็นลอน อย่าง Bichon Frise , Poodle, Irish Water Spaniel และ แมวสายพันธุ์ Selkirk Rex, Laperm

ควรตัดแต่งขน และแปรงขนเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงสามารถระบายความร้อนและอากาศได้ดีขึ้น เส้นขนไม่จับกันเป็นก้อน พันกันยุ่งเหยิง หรือหมักหมมสิ่งสกปรกไว้ จนเกิดเป็นเชื้อรา หรือโรคผิวหนัง ส่วนสัตว์เลี้ยงที่มีขนสั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว หรือกระต่าย ไม่ควรไถ หรือตัดขนบริเวณลำตัวเพิ่ม

ตัดขนสุนัข 2

การเตรียมตัวก่อนเริ่ม ตัดขนสุนัข

สัตว์เลี้ยง : มีสัตว์เลี้ยงหลายตัว โดยเฉพาะแมวมักจะอารมณ์ไม่ดี งอน และสูญเสียความมั่นใจหลังการตัดขนได้ง่าย เนื่องจากการตัดขนที่สั้นจนเกินไป อาจทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกไม่สบายตัว และไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง เจ้าของจึงควรทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกสบายกาย-สบายใจ รู้สึกปลอดภัย และควรเลือกความยาวของเส้นขนให้พอดี ไม่สั้น – ไม่ยาวจนเกินไปก่อนเริ่มลงมือ

Tips สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจจะไม่ชินและกลัวเสียงดังของปัตตาเลี่ยน เจ้าของจึงควรทดลองเปิดให้สัตว์เลี้ยงเกิดความคุ้นเคย หรือเลือกอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดเสียดังน้อยที่สุด

เจ้าของ : เมื่อตัดสินใจที่จะลงมือตัดขนด้วยตนเองแล้ว เจ้าของควรมั่นใจในฝีมือตัวเอง และไม่รู้สึกประหม่า เพราะ ถ้าหากว่าเจ้าของรู้สึกกลัวหรือกังวล ก็จะยิ่งทำให้สัตว์เลี้ยงสัมผัสอารมณ์ได้ถึงอารมณ์นั้น ๆ  แล้วอาจจะรู้สึกกลัว รู้สึกว่าเจ้าของกลายเป็นเหยื่อ หรือจะเข้าไปทำร้าย จนอาจทำให้สัตว์เลี้ยงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว อย่าง การขู่ หรืองับมือออกมาได้เช่นเดียวกัน

อุปกรณ์ : สำหรับ การตัดขนสัตว์เลี้ยงด้วยตนเอง อุปกรณ์ที่ควรเตรียมให้พร้อม ได้แก่ หวี กรรไกร และปัตตาเลี่ยน

– กรรไกรตัดขน แบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ กรรไกรตรง (Straight Shears) , กรรไกรโค้ง (Curved Shears) และ กรรไกรซอย (Thinning Shears) ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้กรรไกร เพราะ รู้สึกถนัดมือ และได้ทรงที่หลากหลาย แต่สำหรับมือใหม่ถ้าใช้กรรไกรตัดทั้งตัวอาจต้องใช้เวลานาน และทำให้เส้นขนที่ตัดออกมามีลักษณะเป็นขั้นบันไดไม่สม่ำเสมอได้

– ปัตตาเลี่ยนตัดขน สามารถแบ่งได้เป็น แบบมีสาย กับแบบไร้สาย โดยส่วนใหญ่ 1 ชุดมักจะประกอบด้วย ตัวเครื่อง ใบมีด สายชาร์จ หวีรอง แปรงปัดขน และน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งการใช้ปัตตาเลี่ยนตัดขน จะช่วยประหยัดเวลา และได้เส้นขนที่ยาวสม่ำเสมอทั่วทั้งตัว

นอกจากนี้ ขนของสัตว์เลี้ยงมักจะเป็นขนเส้นเล็ก ละเอียด และมีความหนา โดยมีตั้งแต่ 3-7 เส้นต่อ 1 รูขุมขน ซึ่งมากกว่ามนุษย์ที่มีเพียง 1 เส้นต่อ 1 รูขุมขน การนำอุปกรณ์ของมนุษย์ไปใช้กับสัตว์เลี้ยง ส่วนมากจะตัดไม่เข้า ไม่เรียบสวย หรืออาจจะดึงเส้นขน ทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกเจ็บ และกลัวการตัดแต่งขน เครื่องมือสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ดี จึงควรทำจากวัสดุที่แข็งแรงกว่า มอเตอร์แรงกว่า ใบมีดคมกว่า และมีเสียงที่เบากว่า

วิธีแปรงขนสุนัข

1.จับน้องหมาให้นอนหงาย สางขนที่พันกันออกหรือถ้าพันกันมากให้ใช้กรรไกรตัดทิ้ง ซึ่งการที่ขนเป็นสังกะตัง อาจเกิดจากการที่สุนัขวิ่งเล่นคลุกกับดินหรือกลิ้งอยู่บนพื้นหญ้า ทำให้มักจะมีเศษไม้ ใบไม้หรือฝุ่นผงติดขนจนขนพันกันเป็นสังกะตัง โดยเฉพาะสุนัขที่มีขนยาวหรือผลัดขนมากกว่าปกติ อย่าง Poodle, Bichon Frise, Cocker Spaniel จากนั้นจึงแปรงขนไล่จากช่วงหัวไปยังท้ายลำตัว หรือ จากบริเวณคางไล่ไปจนถึงขาหลัง โดยพยายามแปรงให้ถึงผิวหนัง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แต่ไม่แปรงนานหรือรุนแรงจนเกินไป

Tips ใช้ขวดสเปรย์พ่นน้ำไปที่ขนให้เป็นละอองเล็กน้อย จะทำให้เส้นขนมีความชุ่มชื้น ไม่พันกันง่าย หรือ แห้งจนเกิดไฟฟ้าสถิตย์

2.จับน้องหมานอนตะแคงและแปรงจากปลายขาหน้าไล่ไปยังคอ ไหล่ ด้านล่างลำตัวไปตามแนวกระดูกสันหลัง จากนั้นแปรงขนจากปลายเท้าหลังไล่ไปจนถึงโคนหาง โดยแปรงให้ทั่วจนถึงชั้นขนด้านใน

3.กลับอีกด้านแล้วทำซ้ำ

4.แปรงขนหาง หู และ ศีรษะตามลำดับ

นอกจากนี้ ควรแปรงขนให้สุนัขทุกวัน หรือ อย่างน้อย 2-3 วันต่อครั้ง เพื่อป้องกันขนพันกัน และ ควรแปรงขนสม่ำเสมอตั้งแต่ยังเล็ก เพราะ จะเป็นการช่วยสร้างความเคยชินและจะทำให้ง่ายต่อการดูแล

ขั้นตอนการ ตัดขนสุนัข

1.นำแปรงมาแปรงขนให้ทั่วทั้งตัว หากมีก้อนขนที่พันกันควรสางออกก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกเจ็บ และปัตตาเลี่ยนสะดุดเวลาที่ไถขน จนอาจทำให้อุปกรณ์เสียหาย แต่ถ้าหากเลือกใช้กรรไกรตัดขนสามารถตัดก้อนขนออกได้เลย

2.หากใช้ปัตตาเลี่ยน ควรตรวจสอบอุปกรณ์ว่ามีความคมที่เพียงพอ ชาร์จอุปกรณ์ให้พร้อม และเลือกระดับใบมีดที่พอดี ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป เพราะ ถ้าหากตัดสั้นจนเกินไปอาจทำให้ผิวหนังได้รับแสงโดยตรง มีความไวต่อแสงแดด และทำให้มีผลต่อการระบายความร้อน จนอาจเกิดอาการ Heatstroke ได้

3.ใช้ปัตตาเลี่ยนไถบริเวณลำตัว โดยวางใบมีด หรือหวีรองตัดให้แนบกับผิวหนัง จากนั้นให้เริ่มเดินใบมีดไปตามแนวของลำตัวในทิศทางเดียวกัน ช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง เพราะ ร่างกายของสัตว์เลี้ยงอาจจะมีเนื้องอก หรือเนื้อย่นตามศอก อาจมีผังผืดที่แขน และขาได้

Tips สำหรับมือใหม่ เจ้าของและสัตว์เลี้ยงอาจจะหมดความอดทนได้ง่าย จึงควรเริ่มจากบริเวณที่โกนขนยากก่อน แล้วค่อยขยับไปตรงที่โกนง่ายกว่า

4.เก็บรายละเอียด หรือตัดแต่งทรงเพิ่มเติม

– บริเวณใบหน้า และรอบดวงตา เพื่อไม่ให้เส้นขนยาวจนบัง หรือชี้ทิ่มนัยน์ตา จนก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เป็นหนอง ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจจะต้องมีผู้ช่วย เพราะเป็นบริเวณที่ค่อนข้างอ่อนไหว อาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย หากสัตว์เลี้ยงเกิดอาการดิ้น หรือตื่นตระหนก

– ช่วงหูด้านใน ที่อาจทำให้เกิดกลิ่นเหม็นอับ หรือกลายเป็นแหล่งสะสมของบรรดาฝุ่น, เชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เพราะ มักเป็นตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก ซึ่งในบริเวณนี้อาจเปลี่ยนมาใช้กรรไกรสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีความโค้ง เพื่อให้โค้งไปตามลักษณะรูปร่าง หน้าตาของสัตว์เลี้ยงได้ดียิ่งขึ้น

– อุ้งเท้า หรือใต้ฝ่าเท้า เป็นบริเวณที่ควรดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพราะ อุ้งเท้าจะต้องสัมผัสกับพื้นโดยตรง ทำให้กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค, ไข่พยาธิ, เห็บ-หมัด และปรสิตต่าง ๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้การเดินมีอุปสรรคได้อีกด้วย

5.เมื่อตัดเสร็จเรียบร้อยควรให้คำชม หรือของกินเป็นรางวัลสำหรับสัตว์เลี้ยง ส่วนอุปกรณ์หลังจากใช้งานเสร็จเรียบร้อย ให้นำแปรงหรือแปรงสีฟันมาขัดตามร่องใบ หรือใบมีดออก จากนั้นให้หยดน้ำมันหล่อลื่น 3-4 จุดตามร่องฟัน เพื่อเป็นการดูแลรักษาอุปกรณ์ให้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น

ข้อควรระวัง

ในช่วงที่มีอากาศร้อน เจ้าของหลายคนมีความกังวลว่าสัตว์เลี้ยงที่มีขนยาวหรือขนสองชั้นอาจจะระบายความร้อนไม่ทัน ยิ่งสัตว์เลี้ยงที่มีขนพันติดกันเป็นสังกะตังยิ่งจะเก็บความร้อนไว้ในตัวค่อนข้างมาก จึงเลือกที่จะไถขนออก เพื่อหวังว่าจะช่วยระบายความร้อนได้ดี แต่การตัดสั้น หรือชิดติดผิวหนังมากเกินไป อาจจะทำให้แสงแดดทำร้ายผิวหนังได้โดยตรง ก่อให้เกิดปัญหาผิวหนังอักเสบ และปัญหาผิวหนังต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย รวมถึงยังมีผลต่อการระบายความร้อน เพราะ การได้รับแสงแดดที่มากเกินไปจะทำให้สัตว์เลี้ยงสูญเสียการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ระบายความร้อนได้ช้า และยากมากขึ้น จนอาจเกิดโรคลมชักหรือลมแดด ดังนั้น ในช่วงที่อากาศร้อนเจ้าของจึงควรตัดขนสั้นแต่พอดี ไถเปิดขนบริเวณอุ้งเท้า เพื่อให้ร่างกายสามารถระบายความร้อนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอุ้งเท้าเป็นที่ระบายความร้อนชั้นดี รวมถึงการหอบทางจมูก


ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ดาวที่อยู่ถัดจากเพลง หมายถึงอะไรใน Apple Music?
เปแอสเช ตั้งเป้าเปิดตัว อูการ์เต้ กับ อาเซนซีโอ
สลด เด็กชายวัย 11 ปี เจอกระสุนลูกหลงดับ
สวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ยืนยันตัวตนสำเร็จ 10 ล้านคน
ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://www.argentinabuscador.com/
สนับสนุนโดย  ufabet369
ที่มา www.baanlaesuan.com